International Symposium on Advances in Pertussis Immunization โดย บริษัท BioNet Asia เพื่อแบ่งปันและส่งต่อความรู้ด้านงานวิจัยวัคซินป้องกันโรคไอกรน (Pertussis diseases)

งาน International Symposium on Advances in Pertussis Immunization ที่จัดขึ้นโดย บริษัท BioNet Asia เพื่อแบ่งปันและส่งต่อความรู้ด้านการทำงานวิจัยด้านวัคซินโดยเฉพาะวัคซินป้องกันโรคไอกรน (Pertussis diseases) ที่ถูกพัฒนาขึ้นโดยการทำงานอย่างหนักของบริษัทจนได้รับการจด license และขึ้นทะเบียนยา กับ องค์การอาหารและยาของไทยเป็นที่เรียบร้อย และนอกจากนี้งานนี้ยังจัดเนื่องในโอกาสการก่อตั้งบริษัทครบรอบ 15 ปี อีกด้วย โดยจัดขึ้นในวันที่ 13 มกราคม 2560 ที่ผ่านมา ณ ห้องนภาลัย โรงแรม ดุสิตธานี กทม.

ภายในงานมีผู้เขี่ยวชาญด้านวัคซินทั้งจากในและต่างประเทศให้ความสนใจมาร่วมงานมากมาย อาทิเช่น ศ.เกีตรติคุณ ดร. ประเสริฐ ทองเจริญ, ศ.เกีตริคุณ ดร. อมเรศ ภูมิรัตน์ ศ.ดร.อุษา ทิสยากร, Emeritus Prof. Stanley Plotkin, Prof. Keith Klugman, Dr.Jean Petre โดยงานนี้ ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการ TCELS มาร่วมงานและเป็นประธานแทน ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รมว. ขึ้นกล่าวเปิดงานช่วงบ่าย
เนื้อหาการสัมมนาถือว่ามีความเข้มข้น ลึกซึ้ง และครอบคลุมเรื่องราวเกี่ยวกับโรคไอกรนและวัคซินโดยแบ่งเป็นsession เสนอเนื้อหาตั้งแต่ลักษณะอาการ การระบาด การติดต่อของโรคไอกรนโดยทั่วไปในโลก โรคไอกรนนี้ถือเป็นโรคที่อยู่ในแผนสุขภาพและต้องการการให้วัคซินในเด็กไทยและอีกเกือบทุกประเทศทั่วโลกจนเด็กมีอายุครบ 5-6 ขวบ จากนั้นการสัมมนาเจาะลึกมายังงานวิจัยในประเทศไทยซึ่งเป็นข้อมูลที่มีค่ามากกับการวางแผนป้องกันและกำจัดโรคนี้ให้หมดสิ้นได้จากประเทศ
ต่อมาเป็นการใช้และการพัฒนาวัคซินซึ่งวัคซินที่บ้านเราใช้ยังเป็นวัคซินชนิดเชื้อตาย (whole cell) โดยใช้เชื้อโรคจริงที่ทำให้ตายแล้วมาเป็นวัคซินอยู่บ้าง ซึ่งวัคซินชนิดนี้ข้อเสียคือมักพบว่าทำให้เกิดอาการไข้ในเด็กที่ได้รับวัคซิน ปัจจุบันในประเทศพัฒนาแล้วจึงมีเทคนิคการทำวัคซินที่กำจัดผลข้างเคียง (side effect) ดังกล่าวออกไป เช่น การใช้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง (epitope) จากตัวเชื้อที่มีคุณสมบัติของการกระตุ้นภูมิคุ้มกันแต่ไม่ทำให้เกิดอาการของโรคและลดผลข้างเคียง
เนื้อหาของการสัมมนายังดำเนินเจาะลึกไปถึงเทคนิคด้าน genetics molecular ที่ใช้ในการตรวจวิเคราะห์โรคและพัฒนาการทำวัคซิน ซึ่ง TdaP ที่บริษัท BioNet Asia ได้พัฒนาขึ้นมานี้ เป็นวัคซินโรคไอกรนที่นำโปรตีนบางส่วนของเชื้อโรคมาใช้เช่นกันแต่ได้ทำการดัดแปลง (2 point mutation) โปรตีนก่อน เพื่อมุ่งหวังเพิ่มประสิทธิภาพให้ดีขึ้นลดความเสี่ยงของผลข้างเคียงให้ลดลงไปอีก

วันนี้ผู้เขียนสามารถฟังและจับใจความนำมาเล่าสู่กันฟังไว้ได้เพียงเท่านี้ต้องขออภัย อย่างไรก็ตามงานนี้ คุณวิทูรย์ วงศ์หาญกุล CEO แห่ง BioNet Asia ได้กล่าวทิ้งท้ายตอนปิดงานไว้ว่าสำหรับ BioNet Asia เท่าที่ทำผ่านมานั้น งานนี้ถือเป็นการนับความสำเร็จครั้งที่ 1 ซึ่งท่านเองมีเป้าหมายจะนับการสร้างวัคซินตัวอื่นๆให้กับคนไทยและทั่วโลกต่อไปอีกเป็น 2, 3, และต่อไปอีกเรื่อยๆ ทำให้คาดว่าเราจะได้พบงาน The BEST of Vaccine-Scientific Symposium in Thailand จากผู้ประกอบการเอกชนอย่างนี้ได้อีกไม่นานเกินรอ