ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อการปลอดล๊อคการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

วันที่ 9 พฤศจิกายน 2561
ผู้แทนสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBio) ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคม และ ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคม เข้าร่วมประชุมเพื่อการปลอดล๊อคการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ โดย สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) เป็นเจ้าภาพเชิญ ผู้เกี่ยวข้องจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งที่ปรึกษา, ผู้บริหาร, นักวิชาการ, Technology Licensing Officer (TLO), ผู้ประกอบการที่ใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และ การวิจัย, สมาคมไทยไบโอและผู้แทนบริษัทสมาชิกสมาคมฯ เข่น ดร. วาสนา วิจักขณาลัญฉ์ บริษัท Bionet-Asia, น.สพ.กษิดิ์เดช ธีรนิตยาธาร บริษัท Green Innovative Biotechnology เข้าร่วมระดมความคิดเห็น


โดยมี เลขาธิการ สวทน. ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ นั่งเป็นประธานการประชุม และได้กล่าวถึงมาตรการต่างๆ ของประเทศที่ใช้ในการสนับสนุนให้ภาคเอกชนทำงานวิจัยหรือร่วมวิจัยกับหน่วยงานภาครัฐ ในอดีตที่ผ่านมาเช่น #สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษี300% (https://www.nstda.or.th/rdp/) #คูปองนวัตกรรม (http://www.nia.or.th/nia/th/คูปองนวัตกรรม-ระยะที่-2/) ซึ่งช่วยกระตุ้นการวิจัยและพัฒนา ได้ในระดับหนึ่ง แต่ยังไม่บรรลุวัตถุประสงค์หลักคือการนำงานวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มาใช้ในเชิงพาณิชย์ หรือใช้เพิ่มคุณค่าทางเศรษฐกิจ ของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้การระดมสมองครั้งนี้ได้พูดถึง 3 ประเด็นหลักคือ
1. การเตรียมความพร้อมของ TLO หรือหน่วยงานจัดการทรัพย์สินทางปัญญาและถ่ายทอดเทคโนโลยี (เพิ่มเติม https://www.nstda.or.th/tlo/content.php?id=4),
2. (ร่าง) พระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม พ.ศ. …. ซึ่งจะ เป็นกลไกที่ช่วยให้เกิดความคล่องตัวในการบริหารจัดการการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้รับทุนในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัยและนวัตกรรม และถ่ายทอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปยังภาคเอกชนเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนช่วยส่งเสริมให้เกิดบริษัทที่แยกตัวจากมหาวิทยาลัย และมีนักวิจัยเข้าร่วมธุรกิจเทคโนโลยีและนวัตกรรม (http://nric.go.th/…/ร่าง_พรบ_ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจ…)
3. (ร่าง) พระราชบัญญัติ Regulatory Sandbox พ.ศ. …. ซึ่งจะเป็นกลไกการทดสอบ การประเมินมูลค่า นวัตกรรม และเทคโนโลยีภายใต้สภาพแวดล้อมจริงและข้อมูลจริง โดยมีการจำกัดขอบเขตต่าง ๆ เช่น เรื่องพื้นที่ จำนวนผู้บริโภค หรือจำนวนเงิน ในช่วงที่ทำการทดสอบ และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงและมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคที่เหมาะสม โดย (ร่าง) พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นการช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถประเมิน ผลิตภัณฑ์ สินค้าและบริการได้ทันต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ได้ (http://www.lawamendment.go.th/…/818_e71b27f758fb3d3233fae8b…)
จากความคิดเห็นในที่ประชุมต่อการผลักดันการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ต่อมาตรการทั้ง 3 ประการนี้ ผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ต้องการให้ สวทน. เป็นเจ้าภาพทำให้เกิดหลักเกณฑ์กลางในการปฎิบัติงานในขั้นตอนต่างๆ ที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปปฎิบัติได้ หลายภาคส่วนได้เสนอแนะให้วางรูปแบบ เริ่มตั้งแต่มาตรการให้ทุน กำหนดวัตถุประสงค์ของงานวิจัยที่ชัดเจน การประเมินคุณค่าผลงานวิจัยเพื่อประเมินราคาการถ่ายทอดเทคโนโลยีโดยใช้คุณค่าทางการตลาดและเชิงเศรษฐกิจมาพิจารณา อาจมีการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ เพื่อให้เกิดการรับถ่ายทอดเทคโนโลยีไม่สูงมากนัก (ครอบคลุมการจัดการถ่ายทอดได้เพื่อไม่เป็นภาระต่อหน่วยงาน) แต่ผลตอบแทนต่อเจ้าของงานวิจัย และ หน่วยงานต้นสังกัด นั้นอาจจะได้รับเป็นอัตราส่วนจากการทำกำไรของผลิตภัณฑ์หลังจากช่วยกันผลักดันให้ออกสู่ตลาดได้ วิธีนี้จะช่วยเพิ่มจำนวนการรับถ่ายทอด และ การทำให้เทคโนโลยีได้รับการพัฒนาจนสำเร็จสร้างมูลค่าได้

ซึ่งความสำเร็จของการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ หนึ่งๆ นั้น จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ อย่างยั่งยืนได้ เกิดห่วงโซ่มูลค่าสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับแรงงาน ผู้ประกอบการ และ จ่ายเป็นภาษีให้กับประเทศ