สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทยร่วมประชุมเสนอผลการสำรวจและรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับความพร้อมและความต้องการใช้บริการโรงงานต้นแบบ ระดับขยายขนาด

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ และ ดร. พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการ เข้าร่วมประชุมเสนอผลการสำรวจและรับฟังความคิดเห็น เกี่ยวกับความพร้อมและความต้องการใช้บริการโรงงานต้นแบบ ระดับขยายขนาดสำหรับผลิต ผลิตภัณฑ์จากจุลินทรีย์

โดยหน่วยศึกษานโยบายและความปลอดภัยทางชีวภาพ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติหรือไบโอเทค เป็นเจ้าภาพโครงการสำรวจฯ พร้อมจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2561 ณ ห้องบองวีวองส์ โรงแรมตวันนา กรุงเทพฯ

งานนี้ได้รับเกียรติจาก ดร.นตพร จันทร์วราสุทธิ์ รักษาการ รองผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติเป็นประธาน กล่าวถึงความสำคัญของโครงการฯ และกล่าวเปิดงานประชุม

วิทยากรในช่วงแรก คุณ ณัฐพัชร์ โหบาง ผู้จัดการโรงงานต้นแบบ ศูนย์วิจัยและบริการเทคโนโลยีการหมัก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สังกัดแผนกความร่วมมือสถาบันการศึกษา ศูนย์วิจัยและพัฒนา เครือเบธาโกร หนึ่งในบริษัทสมาชิกสมาคมไทยไบโอ รับหน้าที่รับช่วงสำรวจให้กับสมาคมฯ เข้าทำการสำรวจสัมภาษณ์ และนำเสนอผลการสำรวจความพร้อมของโรงงานต้นแบบระดับขยายขนาดในช่วง เดือน สิงหาคม-ตุลาคม 2561 จำนวน 10 แห่งจากทั่วประเทศ ซึ่งพบว่ามีความพร้อมของโรงงานต้นแบบอยู่ส่วนหนึ่ง โรงงานต้นแบบส่วนใหญ่ดำเนินการภายใต้มหาวิทยาลัยและกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ โดยพบอยู่ในกรุงเทพฯและเขตภาคกลาง 6 แห่ง และภาคเหนือ ภาคตะวันออก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ ภาคละ 1 แห่ง แต่ละแห่งมีการบริการทั้งบุคลากรภายในและบุคคลภายนอกหรือบริษัทเอกชนต่างๆ ความพิเศษที่แต่ละที่มีคือความเชี่ยวชาญต่อการจัดการวัตถุดิบที่แตกต่าง และมีเทคโนโลยีของช่วง down stream ที่แตกต่างกันไปตามความต้องการของผู้ใช้บริการ

วิทยากรในช่วงที่ 2 คุณทิพวรรณ รัตนกิจ นักวิจัยนโยบาย ศูนย์พันธุวิศวกรรม และเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ขึ้นนำเสนอผลการสำรวจความต้องการใช้โรงงานต้นแบบของภาคอุตสาหกรรมและสถาบันการศึกษา
พบว่าชนิดของผลิตภัณฑ์ที่ต้องการนำมาทดลองในขั้นขยายขนาด (เพิ่มปริมาณการผลิตจากขนาดผลิตในห้องทดลอง)

ของทั้งภาคการศึกษาและเอกชน มีความคล้ายคลึงกัน สิ่งที่แตกต่างกันเป็นเพียงปริมาณในการผลิต โดยภาคเอกชนต้องการปริมาณผลิตภัณฑ์ที่เกิดขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเพื่อรองรับถึงการนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าวไปทำการทดลองตลาดด้วย จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงมาตรฐานการผลิตด้วย

ผู้เข้าร่วมงานในวันนี้มีทั้งตัวแทนภาคเอกชน คณาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญจากหลายภาคส่วน มาร่วมให้ความคิดเห็นและสนับสนุนให้เกิดการสร้างเครือข่ายการทำงานด้านโรงงานต้นแบบระดับขยายขนาดร่วมกัน ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้และเป็นการสร้างเครือข่ายการบริการที่ความเข้มแข็งของประเทศได้ในอนาคต และเป็นการบริการรองรับ​เศรษฐกิจชีวภาพซึ่งเป็นการพัฒนาต่อยอดเพิ่มมูลค่าจากผลผลิตทางการเกษตรและความหลากหลายทางชีวภาพ รวมถึงจุลินทรีย์ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศไทยด้วย