สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (Thaibio) เข้าประชุมผู้เชี่ยวชาญอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ เพื่อให้สัมภาษณ์ต่อสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง (สวค.) 

วันที่ 28 มกราคม 2562 ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ พร้อมด้วย ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคมฯ เข้าให้สัมภาษณ์ ต่อเรื่องการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Bio Hub of ASEAN ของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ณ มูลนิธิสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจการคลัง เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร ซึ่งการประชุมนี้เป็นการรวบรวมข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพชั้นแนวหน้าของประเทศในการสร้างความเข้าใจ เป้าหมายเพื่อหาแนวทางการพัฒนาประเทศไทยให้เป็น Bio Hub of ASEAN

สมาคมฯ นำสรุปประเด็นจากการให้สัมภาษณ์ของนายกสมาคมฯ จาก สวค. ในครั้งนี้ บางส่วนมานำเสนอ
“เนื่องจากเป้าหมายการพัฒนายังไม่ชัดเจน” รวมถึงภาครัฐควรชี้ให้ผู้ประกอบการเห็นว่า Bio Hub มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจอย่างไร และจะสร้างประโยชน์ให้ผู้ประกอบการได้อย่างไร จึงต้องมีข้อมูลเพื่อวาง Roadmap หรือยุทธศาสตร์ในการพัฒนา โครงสร้างพื้นฐานสำหรับการผลิต Bio product (Bio-Platform) สำหรับแต่ละคลัสเตอร์อุตสาหกรรม ซึ่งจะมีเทคโนโลยีและมาตรฐานการผลิตความจำเพาะเจาะจง ที่แตกต่างกัน ไม่สามารถใช้ร่วมกันได้ Bio Hub facilities จึงต้องมีความชัดเจน โดยมีประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. “ควรมีผลิตภัณฑ์เป้าหมาย Bio products ที่เป็นผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย (Final Product) ที่ชัดเจน” โดยควรศึกษา Bio product แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม (เช่น ด้านการแพทย์ สุขภาพ อาหาร พลังงาน หรือ สิ่งแวดล้อม) ว่ามี Supply chain และ Value chainใดที่เกี่ยวข้องบ้าง มีอุตสาหกรรมต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำใดบ้าง ซึ่งในภาพรวม Supply chain เพื่อสร้าง Bio product หรืออุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ จะเกี่ยวข้องตั้งแต่ภาคเกษตรกรรม (วัตถุดิบ), อุตสาหกรรมขั้นกลางซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรไปเป็นสารมูลค่าเพิ่มที่เป็นวัตถุดิบขั้นกลาง (ingredients) ต่างๆ เช่น สารสกัดซึ่งเป็นสารสำคัญหรือสารออกฤทธิ์ หรือแม้แต่ตัวทำละลาย (solvent) เพื่อนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายสำหรับผู้บริโภคซึ่งผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้ายนี้จะถือเป็นตัวสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ได้สูงสุด การสร้าง Bio-Platform ของผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย ซึ่งมีวิธีการและมาตรฐานความจำเพาะเจาะจงที่แตกต่างกันจึงต้องมีความชัดเจนตั้งแต่การวางแผน
2. “ปัจจุบันไทยยังขาดการพัฒนาอุตสาหกรรมขั้นกลาง” ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่แปรรูปผลิตผลทางการเกษตรไปเป็นผลผลิตขั้นกลางต่างๆ ทำให้ต้องนำเข้าปัจจัยการผลิตขั้นกลางดังกล่าวจากต่างประเทศเพื่อนำมาใช้ในการผลิต ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิต Bio products ยังมีไม่มาก ทำให้ ”มีความต้องการผลผลิตขั้นกลางไม่มาก มีปริมาณ (Volume) ที่ไม่คุ้มค่าต่อการผลิตหรือใช้กำลังการผลิตได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ” จึงทำให้การนำเข้าวัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศที่มีต้นทุนต่ำกว่าการผลิตเองในประเทศเป็นที่นิยมกับผู้ผลิตในไทยมากกว่า นอกจากนี้ “การขาดเทคโนโลยีการผลิตในประเทศเป็นข้อจำกัดที่สำคัญอีกประการหนึ่ง” ซึ่งการหาพันธมิตรจากต่างประเทศที่มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมกลางน้ำต่างๆ เพื่อร่วมกันพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศ และขณะเดียวกันนั้นต้องส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับผู้ประกอบการในประเทศไทยด้วย เป็นแนวทางแก้ปัญหาที่น่าสนใจ
3. การหาตลาดหรือ “การมองตลาดสำหรับสินค้า Bio products ต้องมองภาพรวมในระดับกลุ่ม CLMVT ไม่ใช่มองตลาดภายในประเทศเพียงอย่างเดียว” จะทำให้สามารถสร้าง Demandในผลิตภัณฑ์ได้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้การหาตลาดให้กับ Bio products ในลักษณะของ win-win situation โดยการอาศัยจุดแข็งของประเทศไทย ตั้งแต่การมีวัตถุดิบอย่างเพียงพอและมีคุณภาพ มีทำเลที่ตั้งที่ดี กำลังมีการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ให้ดีขึ้น เป็นตลาดใหญ่ทางด้านการบริการ สุขภาพ การพักฟื้น การท่องเที่ยว และมีโครงสร้างในการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ดีในระดับหนึ่ง เช่น นโยบาย EEC SEC รวมถึงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในปัจจุบันที่การเมืองค่อนข้างมีเสถียรภาพ และมีการบูรณาการความร่วมมือในการพัฒนาของหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ มากขึ้นกว่าที่ผ่านมา จึงเป็นปัจจัยในการดึงดูดให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ทุนและเทคโนโลยีค่อนข้างสูงด้วย