สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) จัดกิจกรรม ThaiBIO Knowledge Sharing 3/2563 เสวนาเรื่อง Investment opportunities of Medical Industry and Future Trend of Biopharma business in Thailand from COVID-19 Pandemic

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) จัดกิจกรรม ThaiBIO Knowledge Sharing 3/2563 เสวนาเรื่อง Investment opportunities of Medical Industry and Future Trend of Biopharma business in Thailand from COVID-19 Pandemic ในงาน Thailand Lab International and BIO Asia Pacific 2020 ณ MR 220 ไบเทค บางนา
เป็นที่น่าเสียดายด้วยระบบ online เกิดขัดข้องจึงไม่สามารถ on air การเสวนาครั้งนี้ซึ่งเนื้อหาในรายละเอียดจะเป็นประโยชน์ต่อนักลงทุนและผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมชีวภาพ ยา ชีววัตถุ และวัคซีน ที่จะนำไปใช้ได้ ในอนาคต ทางสมาคมฯ ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ อย่างไรก็ตามสมาคมฯ นำสรุปเนื้อหาบางส่วน และภาพบรรยากาศมาแบ่งปัน…
วันที่ 29 ตุลาคม 2563 วิทยากร ผู้ดำเนินรายการ และผู้สนใจทยอยลงทะเบียน เมื่อได้เวลา ดร.วสันต์ อริยะพุทธรัตน์ นายกสมาคมฯ กล่าวเปิดงาน โดยกล่าวว่าการเสวนาครั้งนี้เป็นกิจกรรม ThaiBIO Knowledge Sharing หนึ่งในกิจกรรมหลักที่จัดเป็นประจำของสมาคมฯ ซึ่งกิจกรรมครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่สมาคมได้ร่วมจัดในงาน Thailand Lab ด้วยหวังให้เป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการที่เข้าชมงานและผู้สนใจลงทะเบียนมาล่วงหน้า และตั้งใจว่าจะได้ร่วมจัดกิจกรรมในงาน Thailand Lab and BIO Asia Pacific ทุกๆ ปี
หลังจากนั้นพิธีกรได้กล่าวเรียนเชิญวิทยากรผู้แทนจากหน่วยงานรัฐ 3 ท่าน ประกอบด้วย 1. ดร. รวีภัทร์ ผุดผ่อง ผู้อำนวยการฝ่ายความร่วมมืออุตสาหกรรมสมัยใหม่ เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi), 2. คุณ สุทธิเกตติ์ ทัดพิทักษ์กุล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมการลงทุน 1 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI), 3. ภก.วิทวัส วิริยะปัญญา ตัวแทนผู้อำนวยการองยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (Thai FDA) และวิทยากรจากฝั่งเอกชน ประกอบด้วย 1. คุณ วิทูรย์ วงศ์หาญกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไบโอเน็ต-เอเชีย จำกัด (Bionet-Asia), 2. คุณ มารุต บูรณเศรษกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไบโอเจเนเทค อินเตอร์เนชันเนล จำกัด (BGIC) โดยได้รับเกียรติจาก ดร.พัชราภรณ์ วงษา ผู้อำนวยการโปรแกรมบริหารผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและเสริมอาหาร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) เป็นผู้ดำเนินรายการบนเวที
ด้วยเวลาที่มีไม่มากนักสำหรับวิทยากรที่อัดแน่นไปด้วยคุณภาพทั้ง 5 ท่าน ผู้ดำเนินรายการจึงเริ่มด้วยการให้ผู้ประกอบการแชร์ประการณ์การดำเนินธุรกิจ เริ่มจาก คุณวิทูรย์ วงศ์หาญกุล ผู้ประกอบการด้านยาชีววัตถุวัคซีนเอกชนสัญชาติไทยรายแรกกล่าวว่า ตนเริ่มต้นออกมาทำธุรกิจเมื่อ 49 ปีที่แล้ว (ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1971) ในธุรกิจชีววัตถุและวัคซีนด้วยหวังให้คนไทยเข้าถึงเทคโนโลยีการผลิต และประเทศไทยมีศักยภาพในธุรกิจที่มีเทคโนโลยีชีวภาพขั้นสูง โดยเริ่มต้นจากธุรกิจ diagnosis kit ก่อนจะมาเปิด บริษัท ไบโอเนท เอเชีย ร่วมกับเพื่อนๆ ท่านเล่าประสบการณ์ อุปสรรค วิธีการแก้ไขเหตุการณ์ต่างๆ ในการประกอบธุรกิจชีววัตถุในประเทศไทยมากมาย…..และได้สรุปข้อคิดมาให้สำหรับนักธุรกิจที่สนใจลงทุนในกิจการด้านนี้ว่าควรมีคุณสมบัติหลัก 3 ประการ 1.ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ตนจะทำ 2. ตลาด, สินค้าจากธุรกิจนั้นต้องมีตลาดรองรับ และ 3. ทุน ซึ่งสำคัญกว่าปัจจัยใดๆ ทั้งหมด ในธุรกิจนี้เพราะต้องใช้ทุนมากและลงทุนระยะยาว ต่อมา คุณมารุต บูรณเศรษกุล นักธุรกิจหนุ่มคนเก่งที่ประสบความสำเร็จด้านการบริหารบริษัทต่างๆ รวมถึงบริษัทอาหารและเครื่องดื่มยี่ห้อดังระดับโลก ที่ผันตัวเองเข้ามาทำธุรกิจด้านยาชีววัตถุวัคซีน และเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นเอกชนสัญชาติไทยยุคใหม่ ด้วยแนวคิดการทำงานร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน การรับเทคโนโลยี open innovation ทั้งด้วย BGIC มีความมุ่งมั่นที่ต้องการให้เกิดธุรกิจอุตสาหกรรมชีวภาพ (Life Science) ชีววัตถุ วัคซีนในประเทศให้สำเร็จมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงยาของคนไทยในทุกระดับชั้น โดยท่านกล่าวว่ามีคุณวิทูรย์รุ่นพี่มาช่วยเป็นครู เป็นที่ปรึกษาทำให้ทราบถึงความท้าทายในธุรกิจ และจะยิ่งเสริมให้เกิดความสำเร็จได้ไวขึ้นเพราะมี footprint ของธุรกิจนี้ในประเทศไทยที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว ท่านย้ำถึงข้อคิดให้สำหรับนักธุรกิจที่สนใจลงทุนในกิจการด้านนี้เริ่มจากความรู้หรือเทคโนโลยีให้วิเคราะห์ความสำเร็จของงานวิจัย หรือนวัตกรรมที่มุ่งเป้าสู่การพานิชย์จากการดูขนาดของตลาดของสินค้าจากเทคโนโลยีที่ได้นั้นๆ นอกจากนี้ยังกล่าวถึงจุดแข็งของประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นเชิงพื้นที่ที่ทำให้เราได้เปรียบเรื่อง biodiversity พื้นฐานการทำเกษตรกรรมกับการมี bio resources อีกหนึ่งความคิดเห็นที่ตรงกันของวิทยากรจากภาคเอกชน คือความสามารถทางด้านการวิจัย วิชาการ ค้นคว้าด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของนักวิจัยไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก และยังเป็นลำดับต้นๆ ของประเทศในเอเชีย นอกจากนี้นโยบายจากภาครัฐในยุค Thailand 4.0 ยุทธศาสตร์ชาติมุ่งเน้น ส่งเสริม 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมชีวภาพถึง 4-5 อุตสาหกรรม เริ่มส่งผลต่อการปรับกระบวนทัศน์ (paradigm) และโครงการต่างๆในองคาพยพของหน่วยงานภาครัฐ ขยับให้สอดรับกับกิจกรรมของผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีชีวภาพ ชีววัตถุ ยา ของภาคเอกชนมากขึ้น โดยมีกฏเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะได้นำมาเสนอแฟนเพจสมาคมไทยไบโอในโอกาสต่อไป
สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าสกู๊ปข่าวนี้จะมีประโยชน์ต่อทุกท่านที่ติดตามอ่านไม่มากก็น้อย