สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) นำภาพบรรยากาศ และเนื้อหาบางส่วนในการสัมมนาหัวข้อ “BIOTEC Breakthroughs for a Better Life นวัตกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อชีวิตที่ดีกว่า”ซึ่งจัดในวันที่ 6 กันยายน 2566 ในงาน Thailand Lab International 2023 ณ Hall 103-104 ไบเทค บางนา มาแบ่งปันค่ะ
งานสัมมนานี้ได้รับเกียรติจาก ดร.ภก.ชาญณรงค์ เตชะอังกูล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาอุตสาหกรรม มากล่าวเปิดการสัมมนาและปาฐกถาในหัวข้อ “ทิศทางของอุตสาหกรรมไบโอเทคในประเทศไทย” ว่าอุตสาหกรรมไบโอเทคเป็นอุตสาหกรรมที่ตอบโจทย์เศรษฐกิจของประเทศไทยและทั่วโลก ประเทศไทยตั้งให้อุตสาหกรรมนี้อยู่ในเป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี โดยจะกระตุ้นการสร้างอุตสาหกรรมและการลงทุนในประเทศ มุ่งอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การผลิตสารเคมีชีภาพ สารตัวกลางหรือ ingredients, พลาสติกชีวภาพ อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพเป็นเป้าหมายแรกๆ ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ, นโยบาย BCG และโครงการจากทางราชการ เช่น EECi, EEC และBOI สนับสนุน เขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก, ภาคเหนือตอนล่าง จ.นครสวรรค์ และภาคอีสานตอนกลาง เป็นจุดแข็งที่จะช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมนี้ ผู้ประกอบการไทยที่สนใจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพควรมีความร่วมมือกับภาคีที่มีจุดแข็งในด้านต่างๆมาสนับสนุนกันได้ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลกจะสามารถสร้างความเข้มแข็งและมีขีดความสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างรวดเร็วกว่าการสร้างความสำเร็จเพียงลำพัง
ในการสัมมนาครั้งนี้ผู้จัดได้เชิญวิทยากร 3 ท่าน มาให้ความรู้ใน 3 เทคโนโลยีของความเป็น professional ของแต่ละท่าน
วิทยากรท่านแรก ศ.นพ.อภิวัฒน์ มุทิรางกูร อาจารย์ประจำและหัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอเรื่อง RED-GEMs: The Future of Anti-aging? ทำให้เรามีความหวังว่าในอนาคตอันใกล้นี้การค้นพบการทำงานของสารชีวโมเลกุล REDGEM : REjuvenating DNA by GEnomic Stability Molecules ที่ท่านวิทยากรได้ขนานนามในภาษาไทยสุดคลาสสิคว่า “มณีแดง” นี้จะช่วยให้สุขภาพของมนุษยชาติที่เจ็บป่วยจากความเสื่อมถอยของสภาพร่างกายจากการทำงานที่ลดลงเรื่อยๆของสารพันธุกรรมจะสามารถดีขึ้นและชะลอความชราลงได้ … ซึ่งขณะนี้สารดังกล่าวยังอยู่ในขั้นการทดสอบในสัตว์ทดลองและคาดว่าจะทำการทดลองในมนุษย์ได้ในอีก 1-2 ปี ข้างหน้าโดยท่านวิทยากรได้ฝากการบ้านให้เพื่อนนักวิจัยช่วยกันค้นพบความลับของธรรมชาติตัวต่อๆไปเพื่อการรักษาโรคติดเชื้อซึ่งเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่เป็นปัญหาสุขภาพที่มณีแดงไม่สามารถเข้าไปจัดการได้
วิทยากรท่านที่ 2
นาวาเอก นพ.เถลิงเกียรติ แจ่มอุลิตรัตน์ หัวหน้าหน่วยรังสีร่วมรักษา โรงพยาบาลสมเด็จพระปิ่นเกล้า พูดในหัวข้อ Biomedical engineering development in a real world setting: Thailand’s aspect บริบทของประเทศไทย คุณหมอเป็นศัลยแพทย์รังสีที่ตระหนักถึงความอันตรายจากการใช้รังสีในการรักษาคนไข้ที่เกิดขึ้นกับความเจ็บปวดของคนไข้ บุคคลากรการแพทย์ และงบประมาณที่จำกัดในการจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องในการรักษา โดยไม่ได้นิ่งเฉยคุณหมอได้พัฒนาเครื่องมือป้องกันรังสี อุปกรณ์เพื่อช่วยระบุตำแหน่งผ่าตัดอย่างจำเพาะ และวัสดุทางการแพทย์ ที่สามารถผลิตได้เองในงบประมาณที่รัฐบาลไทยเข้าถึงได้ เป็นการพัฒนาวิศวกรรมการแพทย์เพื่อนำมาใช้จริงในโรงพยาบาลที่ท่านทำงานและในรพ.รัฐและเอกชนอีกหลายแห่ง เป็นการสร้างความมั่นคงในระบบสาธารณสุขไทยได้อีกทางที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ใช้ได้เองในประเทศไทย และถ้าได้รับการสนับสนุนความร่วมมืออาจจะผลักดันเป็นสินค้าแบรนด์ไทยที่ส่งขายให้กับทั่วโลกได้อีกด้วย
วิทยากรท่านที่ 3 ดร.สุนทร ตันติถาวรวัฒน์ ท่านจบปริญญาเอกจาก มหาวิทยาลัย จอห์นฮอปกินส์ ปัจจุบัน เป็นอาจารย์ที่ AMBiO Research Unit ภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พูดเรื่อง Organ-on-Chips เป็นการผนวกนำเทคโนโลยี micro fabrication และ micro fluidic มาสร้างชิปอวัยวะเพื่อใช้ในการทดลอง preclinical และ clinical trial เพื่อทดสอบยา วัคซีนและสาร ทางการแพทย์ได้ เทคนิคนี้สามารถนำมาใช้แทนระบบทดลองเดิมโดยสามารถประหยัดการใช้สารได้มากๆ จากขนาดที่ลดลงแต่ยังคงประสิทธิภาพ และอาจจะนำมาใช้แทนการใช้สัตว์ทดลองซึ่งกำลังเป็นประเด็นในข้อจริยธรรมการใช้สัตว์ทดลองหรือกระทั่งอาจจะเป็นที่ยอมรับให้ใช้แทนการทดสอบในอวัยวะของมนุษย์ได้ในอนาคตเมื่อชิปอวัยวะเหล่านี้ได้ผ่านการใช้งานและผลพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนถึงประสิทธิภาพที่เกิดขึ้น
สมาคมThaiBIO ขอขอบคุณผู้ดำเนินรายการผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่าน ดร.ภก.นิลสุวรรณ ลีลารัศมี และ พ.ท.นพ.โชคชัย สุวรรณกิจบริหาร กับคำถามเพิ่มความกระจ่างในทุกเทคโนโลยี ดร.ขวัญชนิตร ตันติเวชกุล คุณเทวา อุปทานปรีชา ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ตัวแทนกรรมการสมาคมฯ คณะทำงานทุกท่าน และ สุดท้ายดร.ณัฐพศุตม์ ภัทธิราสินสิริ ประธานจัดงาน ที่ร่วมกันสร้างสรรค์กิจกรรมถ่ายทอดข้อมูลความรู้ด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อประโยชน์ของสังคมไทย
สมาคมฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้มีโอกาสนำเสนอกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทยเพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยต่อไป