สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) เข้าร่วมโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทยด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร. พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคมฯ เป็นตัวแทนเดินทางเข้าร่วมงาน Bio World Congress on Industrial Biotechnology ณ Pennsylvania Convention Center และ กิจกรรมต่างๆในโครงการเสริมสร้างขีดความสามารถนะทางการแข่งขันของไทยด้านเศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) ระหว่างวันที่ 15-26 กรกฎาคม 2561 จัดโดยเจ้าภาพร่วมจากกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ และ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) 

นอกจากคณะทำงานจากหน่วยงานเจ้าภาพแล้ว คณะเดินทางประกอบด้วยผู้แทนจาก Food innopolis สวทน., สมาคมไทยไบโอ และ ผู้ประกอบการธุรกิจด้านชีวภาพที่มีผลงาน/ผลิตภัณฑ์ที่คัดเลือกจากนวัตกรรมที่มีความโดดเด่น จำนวน 4 ผลงาน อาทิเช่น …บริษัท Green Innovation Biotechnology (GIB) ผลิตภัณฑ์ วัคซีนพืช Natural Plant Vaccine เป็นสารที่ผลิตได้จากวัสดุทางธรรมชาติมีผลในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับพืชหลากหลายชนิด ทำให้สามารถทนทานต่อโรคต่างๆ ได้ และ Natural Immune Booster สารเสริมภูมิต้านทานให้กับสัตว์นำและสัตว์บก, E-Senss หรือ Electronic Sensory System เครื่องมืออิเล็คทรอนิกส์ขนาดพกพาที่สามารถชิมและบอกรสชาติอาหารได้อย่างแม่นยำ, Probident ซึ่งเป็น Antimicrobial ที่มีคุณสมบัติป้องกันฟันผุและสามารถพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในการช่วยป้องกันฟันผุได้ (ข้อมูลเพิ่มเติม https://issuu.com/niachan…/docs/bioeconomythailand_catalogue)

 

วัตถุประสงค์ ของกิจกรรมครั้งนี้เพื่อพัฒนาศักยภาพในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio economy) ของประเทศไทยซึ่งถือเป็นยุทธศาสตร์หลักจากจุดแข็งด้านผลผลิตทางการเกษตรของไทย ตอบโจทย์นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการผลักดันให้ประเทศไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางมาสู่รายได้สูง ที่จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกิจการเดิม หรืออาจจะเป็นการสร้างสรรค์ หรือนำนวัตกรรมมาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เนื่องจากประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นประเทศที่เป็นผู้นำทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี มีผู้ประกอบการธุรกิจชีวภาพที่สามารถใช้วิทยาการความรู้ด้านไบโอเทคมาใช้ในกิจการตนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการรวมตัวกันจัดกิจกรรมส่งเสริมความก้าวหน้ากันอย่างเข้มแข็ง ซึ่งงาน Bio World Congress on Industrial Biotechnology เป็นอีกหนึ่งงานที่สมาคม Biotechnology innovation Organization (#BIOUSA) ได้จัดการประชุมนี้ขึ้นเพื่อให้คนในอุตสาหกรรมไบโอเทค ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานรัฐ นักวิชาการ นักวิจัย startup นักธุรกิจ และผู้นำอุตสาหกรรม มีเวทีสำหรับแบ่งปันความก้าวหน้าล่าสุดของนวัตกรรมทางชีววิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น จุลินทรีย์ สาหร่าย เอนไซม์ ชีววัสดุ เครื่องมือ และอื่นๆ เพื่อเป็นส่วนประกอบอาหาร เชื้อเพลิงชีวภาพ ทดแทนสารเคมี และเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมซึ่งมีจำกัด และไม่สามารถสร้างขึ้นใหม่ได้ในช่วงชีวิตหนึ่งๆ ของมนุษย์ ดังเช่นผลผลิตจากการเกษตร และปศุสัตว์ การจัดกิจกรรมของกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศและ NIA ในครั้งจึงเป็นการส่งเสริมธุรกิจและสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับผู้เกี่ยวข้อง ประกอบการ นักธุรกิจในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทยในเวทีโลก

นอกจากการร่วมงานประชุมดังกล่าวแล้ว มีการเข้าพบปะและการดูงานในองค์กรส่วนเกี่ยวข้องในการสร้างงานเสริมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพอีก 4 แห่ง คือ
1. สมาคม BIO เพื่อประชุมพบปะ พูดคุย แนะนำหน่วยงานจากภาคส่วนของไทยที่เข้าร่วมงาน ให้ข้อมูลด้านเศรษฐกิจชีวภาพ และนโยบายสนับสนุนในเมืองไทย โดยหน่วยงานไทยได้เชิญชวนให้สมาคม BIO พิจารณาการดำเนินกิจกรรมในประเทศไทย ทั้งนี้สมาคม BIO  ได้เชื้อเชิญให้คณะที่เข้าร่วมประชุมส่งข้อมูล หรือรายชื่อบริษัท และสมาชิกที่สนใจ เพื่อลงในหนังสือ company guide ของ สมาคม BIO ประชาสัมพันธ์ธุรกิจ ผลิตภัณฑ์ในโอกาสต่อไป
2. Philadelphia Business Center เพื่อ ดุงาน ประชุม พบปะ พูดคุย แนะนำหน่วยงานจากภาคส่วนของไทยกับหน่วยงานที่เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจที่ตั้งอยู่กลางใจเมือง Philadelphia ที่เป็นเมืองที่น่าร่วมธุรกิจอีกเมืองหนึ่งของอเมริกา ใกล้มหาวิทยาลัย สนามบิน และมีสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินธุรกิจมากมาย มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์รวมถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของอเมริกา

3. Pennovation Center. เป็นศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ และให้เช่าพื้นที่เพื่อทำห้องปฏิบัติการ จัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวก สถานที่ และห้องแลปเครื่องมือกลาง ในแนวคิด co-working space เพื่อรวมอาจารย์ นักศึกษา นักวิจัย นักประดิษฐ์ startup spin off และผู้ประกอบการที่ต้องการพื้นที่ค้นคว้าวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ คุณสมบัติที่สำคัญของ Pennovation Center คือพื้นที่ที่สร้างสรรค์ ออกแบบตกแต่งล้ำสมัย ที่จะช่วยกระตุ้น (inspiration) การวิจัย ค้นคว้าและประดิษฐ์ ให้กับผู้เช่าพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

4. Science Center ( Sc.) เป็นศูนย์บ่มเพาะ และให้บริการ ห้องแลปวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่เชิงพานิชย์ได้ สนับสนุนช่วยเหลือการเขียนโปรแกรมธุรกิจ การลงทุน แก่นักประดิษฐ์ ผู้ประกอบการ startup และ บริษัทเอกชนให้สามารถนำเทคโนโลยี นวัตกรรม ที่มีไปสู่ตลาดได้ รวมถึงเป็นเครือข่าย การเข้าถึงทรัพยากรซึ่งช่วยให้เกิดนวัตกรรม