สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) เข้าสัมภาษณ์ ดร. ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) จำกัด

วันที่ 8 มกราคม 2561 ดร.วสันต์ อริยพุทธรัตน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO)  พร้อมด้วย ดร.พิมพ์นภา ณีศะนันท์ ผู้จัดการสมาคม เข้าสัมภาษณ์ ดร. ทรงพล ดีจงกิจ กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience) จำกัด เกี่ยวกับวิสัยทัศน์ของบริษัทและการประกอบธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีชีวภาพในประเทศไทย สมาคมขอนำเรื่องราวดีๆ จากบทสัมภาษณ์นี้มาฝากค่ะ

ปัจจุบัน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เป็นบริษัท วิจัยและพัฒนา ผลิต และรับผลิตยาชีววัตถุที่มีชื่อเสียง และเป็นที่รู้จักดีในหมู่นักวิจัยชั้นแนวหน้าของเมืองไทยในฐานะที่เป็นผู้ผลิตที่ “นำนวัตกรรมจากหิ้งสู่ห้าง” อีกตำแหน่ง หนึ่ง…
เกี่ยวกับ ”การก่อตั้งบริษัท” นั้น ดร.ทรงพล เล่าว่า ด้วยความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และการสาธารณสุขพื้นฐานทำให้โลกนี้กำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ (aging society) ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วยเช่นกัน และด้วยอายุของผู้คนที่ยืนยาวขึ้นนี้ทำให้ปัญหาสุขภาพและค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย โดยปัจจัยที่จะตอบโจทย์ด้านการส่งเสริมสุขภาพด้านต่างๆ เช่น โรงพยาบาล โรงงานยาที่เป็นเคมีภัณฑ์ โรงงานวัคซีน ในประเทศไทยถือได้ว่ามีผู้ประกอบการอยู่พอสมควรแล้ว แต่ประเทศเรายังไม่มีโรงงานที่สามารถผลิตยาชีววัตถุได้ ดังนั้นหากประเทศไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้ายาชีววัตถุซึ่งมีราคาแพงต่อไป คงจะเกิดปัญหาด้านงบประมาณอย่างแน่นอน ทำให้บริษัท ทุนลดาวัลย์ จำกัด ในเครือสำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์เล็งเห็นปัญหา จึงได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ เพื่อวิจัยพัฒนาและผลิตยาไบโอฟาร์มาที่ใช้รักษาโรคที่เกิดจากความสูงวัย เช่น โรคมะเร็ง โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคข้ออักเสบ ขึ้นเมื่อปี 2552
“วัตถุประสงค์ของการตั้งบริษัท” ขึ้นเพื่อต้องการสร้างความสามารถในการเป็นผู้พัฒนางานวิจัยไปสู่การผลิตยาชีววัตถุให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้มากที่สุด กล่าวคือ เพิ่มศักยภาพให้ประเทศและยังส่งผลโดยตรงกับการลดราคายานำเข้าซึ่งจะต้องลงราคามาแข่งกับราคายาที่สามารถผลิตได้เองในประเทศ และราคาที่ลดลงนี้ยังเป็นการเพิ่มการเข้าถึงยาให้กับผู้ป่วยได้มากขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างฐานอุตสาหกรรมใหม่เพื่อการส่งออก
“หลักการทำงานของบริษัท”
เป็นแบบ Open innovation ด้วยความยากของงานด้านวิจัย วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการผลิตสารชีววัตถุเป็นทุนเดิม การทำงานแบบเดิมๆ โดยการใช้ closed innovation หรือ silo mentality ทำให้สามารถประสบผลสำเร็จได้ยาก ดังนั้นการรับเอาเทคโนโลยี เรียนรู้ และการแบ่งปันกันจึงเป็นทางที่บริษัทใช้ ใครที่เก่งด้านไหนให้แบ่งภาคส่วนไปทำและเรารับเทคโนโลยีมาเรียนรู้ในขณะเดียวกันเราเก่งหรือชำนาญด้านใดเราก็รับมาเป็นผู้ทำและถ่ายทอดเทคโนโลยี ในปัจจุบันบริษัทรับถ่ายทอดเทคโนโลยีจาก Center of Molecular Immunology หรือ CIM จากประเทศคิวบา ซึ่งที่นี่แตกต่างจากที่อื่นคือไม่ได้มุ่งแค่ขายเทคโนโลยีแต่จะมีการพัฒนาร่วมกัน โดยเขาถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตเพื่อให้เราสามารถพึ่งพาตนเองได้ ซึ่งจุดนี้ก็ถือได้ว่ามีลักษณะการทำงานที่ตรงกัน
“สินค้าและบริการ” ขณะนี้เทคโนโลยี ที่บริษัท ได้รับถ่ายทอดจาก CIM มาเป็นการผลิตยาชีววัตถุ เช่น ยาที่ช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง (EPO) และเม็ดเลือดขาว (GCSF) การให้ยาชีววัตถุแก่ร่างกายนี้เป็นวิธีการรักษาที่เลียนแบบระบบในร่างกายของมนุษย์ คือ ผลิตสารทดแทนในสิ่งที่ร่างกายผลิตไม่ได้ นอกจากนี้ บริษัทมีบริการรับจากวิจัยและรับจ้างผลิตด้วย (Contract Development and Manufacturing Organization หรือ CDMO) โดยบริษัทฯ ได้ก่อสร้างโรงงานผลิตยาชีววัตถุอย่างครบวงจร ซึงในขณะนี้สามารถมีเทคโนโลยีการผลิตตัวยาสำคัญที่ได้จากการหมักจุลินทรีย์ และเทคโนโลยีการแบ่งบรรจุยาชีววัตถุ และได้รับมาตรฐาน PIC/s GMP, ISO 9001, และ ISO17025 ซึ่งถือว่าเป็นโรงงานแห่งแรกของประเทศที่ทำได้
นอกจากนี้ สยามไบโอไซเอนซ์ยังมีแผนการผลิตยาในกลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี ซึ่งเป็นกลุ่มยาชีววัตถุที่กำลังเป็นที่ต้องการของวงการแพทย์เพราะมีประสิทธิภาพสูงและมีผลข้างเคียงต่ำ ก็เป็นอนาคตของยาชีววัตถุที่สามารถพัฒนาไปได้อีกไกลมาก ซึ่งนอกจากจะสามารถพัฒนายาชีววัตถุมาทดแทนสิ่งที่ร่างกายขาดแล้ว ยังสามารถพัฒนายาชีววัตถุที่มีกลไกการทำงานเพื่อรักษาโรคต่าง ๆ ได้หลากหลายขึ้นด้วย การสร้างโรงงานผลิตยาชีววัตถุจึงสอดคล้องกับ ”เป้าหมายต่อไปของบริษัท” คือการพัฒนายาชีวัตถุตัวใหม่ๆ มากขึ้น อย่างไรก็ตามมิได้เน้นมูลค่าที่กำไรของบริษัทแต่เน้นที่เพิ่มชนิดของตัวยาชีววัตถุมากขึ้นและเข้าถึงผู้ป่วยให้ได้ใช้มากยิ่งขึ้น ซึ่งทางบริษัทเองก็ได้ขยายโรงงานและเครื่องมือในการผลิต….ส่วนโรงงานในระยะที่ 2 ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างคาดว่าจะเริ่มมีผลิตภัณฑ์จากโรงงานระยะที่ 2 ออกสู่ตลาดในปี 2563 โครงการดังกล่าวมีแผนจะผลิตยาชีววัตถุในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี้ 6 รายการ ส่วนใหญ่เป็นยารักษาโรคมะเร็ง ได้แก่ยารักษามะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม โรคสะเก็ดเงิน โรคแพ้ภูมิตัวเอง โรครูมาตอยข้ออักเสบและโรคลำไส้อักเสบ ภายหลังบริษัทผลิตยาดังกล่าวออกสู่ตลาดคาดว่าราคายาที่เคยนำเข้าจากต่างประเทศจะปรับลดลง และช่วยประหยัดงบประมาณแผ่นดิน
 
ประเด็นข้อคิดที่ทางผู้บริหารท่านนี้ทิ้งท้ายไว้ต่อคำถามเกี่ยวกับ ”ปัจจัยที่จะทำให้เกิดความก้าวหน้าของการวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพและการนำมาใช้ประโยชน์ภายในประเทศ” คือ ต้อง”ปลูกฝังค่านิยมการใช้สินค้าที่ได้มาตรฐานจากผู้ผลิตในประเทศ” เพราะจะเป็นการเสริมสร้างและต่อยอดองค์ความรู้ได้อย่างครบวงจร คือ คิด วิจัย ผลิต และใช้ประโยชน์ อีกประการหนึ่งก็คือ”การทำงานร่วมกันแบบช่วยกันคิดช่วยกันทำของคนที่เกี่ยวข้องกันในระบบ” โดยสังเกตได้ว่าทั้งสองข้อนี้เกิดขึ้นที่ประเทศหรือสังคมไหน สังคมนั้นจะเจริญก้าวหน้าและเข้มแข็งขึ้นได้อย่างชัดเจน
ทางสมาคมได้เชิญชวน บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ มาร่วมเป็นสมาชิกในสมาคม เพื่อช่วยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเทคโนโลชีวภาพของไทยด้วย