การติดตาม การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด CoViD19 ในประเทศไทย จากเวทีแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

สมาคมอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพไทย (ThaiBIO) นำข้อมูล ข่าวสาร การติดตาม การพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด CoViD19 ในประเทศไทย จากเวทีแถลงข่าวสถานการณ์ไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563 มาสรุปและเรียบเรียงเพื่อสมาชิกแฟนเพจที่สนใจติดตามข่าวอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพของไทย….โดยการพัฒนาและผลิตวัคซีน เป็นธุรกิจสาขาหนึ่งในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพเป็นพื้นฐาน

การแถลงข่าวครั้งนี้มีท่านวิทยากรที่ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับการพัฒนาวัคซีนในไทย 3 ท่าน กรุณามาให้ข้อมูล
เริ่มจาก นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, กล่าวชื่นชมความร่วมมือร่วมใจของพี่น้องประชาชนไทยทำให้คุมสถานการณ์ระบาดของCoViD19 ได้ นอกจากนี้ประชาชนยังสนใจติดตามว่าเมื่อไรเราจึงจะผ่านพ้นเหตุการณ์นี้ได้โดยช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนจำนวนมากสนใจติดตามข่าวในประเด็นเรื่องวัคซีนป้องกัน CoViD19 เป็นจำนวนมาก เนื่องจากวัคซีนเป็นคำตอบหนึ่งในการควบคุมเชื้อได้และคนไทยคุ้นเคยกับวัคซีนเป็นอย่างดีเนื่องจากเคยได้รับการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ หรือฝีดาษ (ปลูกฝี) เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิต้านทานโรคกันมาตั้งแต่ หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (>>หรือประมาณ พ.ศ. 2378 จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2523 องค์การอนามัยโลกได้ประกาศว่าโรคฝีดาษหมดไปจากโลกแล้ว จึงหยุดการปลูกฝีเพื่อป้องกันโรคนับแต่นั้นมา ปัจจุบันในประเทศไทยมีการให้วัคซีนพื้นฐานที่ให้แก่ประชาชนเพื่อป้องกันโรคจำนวน 10 คือ โรควันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ หัด หัดเยอรมัน คางทูม ตับอักเสบบี และไข้สมองอักเสบเจอี) ซึ่งการพัฒนาวัคซีนป้องกัน CoViD19 ของประเทศไทยปัจจุบันมีได้ 3 ทางเลือก 1. การพัฒนาการผลิตวัคซีนเอง ตามขบวนการทดลอง (>>ทำตลอดทุกขั้นตอนตั้งแต่ค้นหา Vaccine Candidates หรือวัคซีนตัวทดลอง มาทดสอบความปลอดภัย และความสามารถในการกระตุ้นภูมิคุ้มกันในสัตว์ ต่อด้วยในคน จนถึงขั้นขบวนการผลิตและบรรจุด้วยมาตรฐานความปลอดภัยในระดับสากล) 2.ร่วมมือกับประเทศที่ทำการผลิตวัคซีนสำเร็จได้ก่อน ซึ่งจะทำให้เราได้วัคซีนเร็วขึ้น (>>ปัจจุบันยังไม่มีประเทศใดทำสำเร็จแต่มี 3 ประเทศที่พัฒนานำหน้าประเทศไทยไปถึงขั้นทดลองในคนแล้ว คือ อเมริกา จีน และ อังกฤษ) และ 3.ไม่ต้องทำอะไรรอซื้ออย่างเดียว แต่จะเจอปัญหาคือ วัคซีนอาจจะมีราคาแพง และต้องรอให้ประเทศต้นทางผลิตให้ประชาชนในประเทศตนก่อน

ต่อจากนั้นนายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ (องค์การมหาชน) แถลงเพิ่มเติมถึงการดำเนินการคิดค้นวัคซีนโควิด-19 ของไทยว่าในขณะนี้ คณะแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับทางบริษัท ไบโอเนท-เอเชีย ได้นำวัคซีนตัวทดลอง (>>DNA Vacine เป็น plasmid DNA ที่จะเข้าไปกระตุ้นร่างกายให้สร้างโปรตีน และเกิดกลไกสร้างภูมิคุ้มกันป้องกันการติดเชื้อได้ ข้อดีคือ เป็นเทคนิคที่ถูกทดสอบ มีการใช้มาก่อนหน้านี้แล้ว มีความปลอดภัยและลดขั้นตอนการผลิตในห้องแลปจากการผลิตวัคซีนแบบเดิม) มาทำการทดลองในสัตว์ทดลองแล้ว และกำลังรอผลการทดสอบจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ว่ามีความปลอดภัยจึงจะนำไปสู่การทดลองในคนต่อไปได้ ซึ่งการทดลองในคนนั้น จะแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ความปลอดภัย (ทดลองใน30-50 คน) ระยะที่ 2 การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน (100-150 คน) และระยะที่ 3 ให้ผลในการป้องกัน (500 คนขึ้นไป) เมื่อได้ผลว่าวัคซีนตัวทดลองดังกล่าวป้องกันโควิด-19 ก็ไปสู่กระบวนการขึ้นทะเบียนเพื่อผลิตต่อไป นายแพทย์นคร กล่าวย้ำว่า “เป้าหมาย ของการทำงานในครั้งนี้เพื่อการเข้าถึงวัคซีนให้เร็วที่สุด โดยให้ข้อมูลว่าสถานการณ์การระบาดจะสงบได้เมื่อประชากรประมาณ 60% ติดเชื้อโรค หรือมีภูมิคุ้มกันแล้ว ซึ่งการป้องกันCoViD19 ในประเทศไทยเลือกใช้การชะลอการระบาดอย่างเข้มข้น ให้การรักษาผู้ติดเชื้อเพื่อรักษาชีวิตของประชากรทุกคนแทนการเลือกใช้การสร้างภูมิคุ้มกันชุมชน (>>Herd immunity ที่อเมริกาหรืออังกฤษใช้ มีมาตรการให้คนป่วยที่มีอาการเล็กน้อยรักษาตัวเองที่บ้านทำให้มีการแพร่ระบาดสูง และบางครั้งรักษาชีวิตผู้ป่วยไว้ไม่ทัน ซึ่งถ้าไทยใช้ยุทธศาสตร์แบบเดียวกันนั้นอาจจะเกิดความสูญเสียชีวิตจำนวนมากกว่า เพราะจำนวนบุคคลากร และเครื่องมือการแพทย์ของไทยเทียบแล้วมีน้อยกว่าประเทศเหล่านั้น) โดยวิธีที่ไทยใช้นี้จะกินเวลานานมากกว่าที่ประชากรที่ยังไม่ติดเชื้อที่เหลืออยู่จะมีภูมิคุ้มกัน และอาจจะทำให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ (>>ถ้ารับมือไม่ดี แต่ถ้าใช้ต้นทุนทางชัยภูมิของประเทศ ศักยภาพ ความแข็งแรงที่สามารถควบคุมโรคได้ดีนี้ อาจสร้างโอกาสของประเทศในวิกฤตได้) และ โครงสร้างทางสังคมได้ (>>มีโอกาสปรับปรุงได้ด้วยเพราะประชาชนกระจายกลับภูมิลำเนาแล้ว ถ้าสร้างงานโดยให้จังหวัดซึ่งปัจจุบันให้อำนาจกระจายศูนย์ในการป้องกัน CoViD19 เป็นโจทย์ทดลองภาคบังคับไปแล้ว จึงควรยื่นโจทย์การพัฒนาชุมชน อาจมุ่งเป้าที่สินค้าปัจจัย 4 ที่มีแนวโน้มเป็นที่ต้องการของประชากรโลกหลังการระบาดลดลง การขนส่งกลับมาปกติ ซึ่งต้องคิดถึง วิธีการผลิต การบรรจุที่มีมาตรฐาน และการให้ข้อมูลบนฉลากที่ชัดเจน ให้งานวิสาหกิจชุมชน ร่วมมือกับเอกชนที่มีศักยภาพการผลิต อาจจะรับวัตถุดิบมาผลิต หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ก.มหาดไทย ก.อุดมฯ ก.อุตสาหกรรม ก.พาณิชย์ฯ และ ก.ต่างประเทศ ประสานกันเป็นระบบให้สามารถส่งไปยังตลาดที่ต้องการได้) นอกจากความมุ่งหวังที่ไทยจะผลิตวัคซีนใช้ในเวลาที่รวดเร็วได้เองแล้ว ประโยชน์ที่คาดหวังของการผลิตวัคซีนในไทยได้เองคือ การพัฒนาศักยภาพการวิจัยเพื่อไปสู่การผลิตวัคซีนในประเทศ (>> อาจรวมถึงการทดสอบระบบการทำงานร่วมกัน…เพราะ ไทยเรามีศักยภาพการวิจัย …หน่วยงานสนับสนุนการใช้งานวิจัยเพื่อการผลิต…เรามีบริษัทผลิต จำหน่ายวัคซีนระดับโลกอยู่ในเมืองไทย งานครั้งนี้จึงเป็นการทดลองระบบของการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนไทยเพื่อร่วมกันทำงานระดับโลกในฐานะทีมจากเมืองไทยด้วย)
นอกจากนี้เนื่องจากหากไทยจะรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตมาจากต่างประเทศ ก็ต้องมีทั้งบุคลากร และโรงงานผลิตวัคซีน ซึ่งไม่สามารถสร้างได้ในเวลาอันสั้น รวมถึงต้องมีการลงทุนขนาดใหญ่ การเริ่มลงมือในวันนี้แม้เราได้วัคซีนได้เร็วขึ้น (ก่อนที่จะมีคนติด 60% หรือ ก่อนประเทศอื่น) แม้เพียง 1 เดือน ก็นับว่าคุ้มค่าที่ได้ศักยภาพการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีน ที่เมื่อได้เกิดขึ้นแล้วจะเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับมือโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ในอนาคตได้ต่อไป นอกจากนี้ เมื่อนักข่าวถามถึงทางเลือกที่ 2 ความร่วมมือกับต่างประเทศที่มีการผลลิตวัคซีนตัวทดลองที่มีโอกาสสำเร็จสูงกว่า…นายแพทย์นคร ตอบว่า ตอนนี้ในประเทศจีนได้มีการทดลองในคนระยะที่ 2 เพื่อดูว่าวัคซีนทดลองสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้หรือไม่ และไทยได้มีการเจรจาทำความร่วมมือกับจีนอยู่ โดยอยู่ในระหว่างการทำ MOU ร่วมกัน

นอกจากนี้ในประเทศไทยมีการพัฒนาวัคซีนทดลองอีก 1 คณะทำงานควบคู่กันด้วย ซึ่งเปิดเผยโดย ดร.สุภาพร ภูมิอมร ผู้อำนวยการสถาบันชีววัตถุ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ว่าคณะแพทยศาสตร์ศิริราช มหาวิทยาลัยมหิดล คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเพิ่มจำนวนไวรัส และนำไปฆ่าเชื้อเพื่อใช้เป็นวัคซีนเชื้อตาย (>>Killed vaccine เป็นวิธีแรกของการทำวัคซีนที่ใช้กันมานานและปัจจุบันยังคงมีใช้อยู่ ปกติจะเป็นวัคซีนตัวทดลองที่มีโอกาสสร้างภูมิคุ้มกันได้ดีมากเนื่องจากเป็นโครงสร้างของตัวเชื้อโรคนั้นๆเลยแต่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนในผู้ได้รับเชื้อได้เพราะถูกฆ่าแล้ว (inactivated)แต่อาจจะทำให้มีไข้หลังได้รับวัคซีน จึงมีการพัฒนาวิธีผลิตวัคซีนด้วยเทคนิคทางพันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพมาทดแทน) วัคซีนตัวทดลองตัวนี้จะนำไปทดสอบในสัตว์ทดลอง และในคนตามวิธีการสากลต่อไป (>>วัคซีนเชื้อตายนี้ จีนประกาศว่ากำลังพัฒนาการผลิตอยู่ด้วยเช่นกัน)
#ศักยภาพของไทยไม่แพ้ชาติใดในโลก
ขอขอบคุณข้อมูลจาก….
1. https://www.facebook.com/fanmoph/videos/696893847765174/?vh=e&d=n
2. https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/876849
3. https://www.hfocus.org/content/2015/01/8997

หมายเหต: (>> ข้อมูลความเห็นเพิ่มเติม)